ขั้นตอนการ Boot คอมพิวเตอร์ และความแตกต่างระหว่าง Cold boot กับ Warm boot

Cold boot และ Warm boot

        เมื่อพูดถึงเรื่องการบูทเครื่อง (Boot Up) นั่นคือการที่คอมพิวเตอร์นำระบบปฏิบัติเข้าไปเก็บในหน่วยความจำ (Memory Unit) ก่อน  แล้วระบบปฏิบัติการจึงจะเริ่มทำงานตั้งแต่เปิดสวิทซ์เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นต้นไป  โดยมีขั้นตอนแบบอธิบายง่ายๆ ดังนี้

        1. Power Supply จะจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปให้อุปกรณ์ต่างๆ บนคอมพิวเตอร์  โดยจะเริ่มจ่ายพลังงานไฟฟ้าทันทีที่กดปุ่ม Power On  และตอนนั้นจะมีสัญญาณ Power Good ส่งไปบอกซีพียูให้เริ่มทำงาน

      2. ทันทีที่ CPU ได้รับสัญญาณ  CPU จะพยายามเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในไบออสเพื่อทำงานตามชุดคำสั่งที่เก็บไว้โดยทันที

       3. โปรแกรมจะเริ่มทำงานตามกระบวนการ POST (Power On Self Test) เพื่อตรวจสอบความพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่ในคอมพิวเตอร์  สามารถดูผลการตรวจสอบได้ทั้งแบบข้อความที่แสดงบนหน้าจอในระหว่างบูทและจากเสียงสัญญาณที่คอมพิวเตอร์ส่งออกมา

        4. ผลลัพธ์จากกระบวนการ POST จะถูกนำมาตรวจสอบกับข้อมูลซีมอส (CMOS – complementary metal oxide semiconductor) ถ้าถูกต้องตรงกันจะทำงานต่อได้ แต่ถ้าไม่ จะต้องแจ้งให้ผู้ใช้แก้ไขข้อมูลก่อน

        5. ไบออสจะอ่านโปรแกรมสำหรับการบูทระบบปฏิบัติการจากเซ็กเตอร์แรกของฮาร์ดดิสก์หรืออุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลไว้

        6. เมื่อไบออสอ่านระบบไฟล์ของไดรฟ์ที่บูทได้แล้ว  จะไปอ่านโปรแกรมของระบบปฏิบัติการที่เรียกว่า เคอร์เนล (kernel) เข้ามาเก็บในหน่วยความจำหลักหรือ RAM ก่อน

        7. เคอร์เนล (kernel) ที่ถูกถ่ายโอนลงหน่วยความจำแล้ว จะเข้าไปควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์โดยรวมและโหลดค่า configuration ต่าง ๆ พร้อมแสดงผลออกมาผ่านหน้าจอของผู้ใช้เพื่อรอรับคำสั่งการทำงานต่อไป



ประเภทของการบูทคอมพิวเตอร์

      1. Cold boot  เป็นการบูทคอมพิวเตอร์โดยการกดปุ่มเปิดเครื่อง (Power On) แล้วเข้าสู่กระบวนการทำงานโดยทันที โดยปุ่มเปิดเครื่อง (Power On) ทำหน้าที่ปิดเปิดการทำงานโดยรวมของคอมพิวเตอร์คล้ายกับสวิทช์ของอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป
       ***สรุปง่ายๆ ก็คือ เปิดคอมพิวเตอร์จากที่ปิดเครื่องอยู่ตามปกติ

      2. Warm boot เป็นการบูทคอมพิวเตอร์โดยทำให้เกิดการบูทใหม่ หรือรีสตาร์ทเครื่อง (restart) มักจะใช้ในกรณีที่คอมพิวเตอร์มีปัญหาไม่สามารถทำงานต่อไปได้/เครื่องค้าง/เครื่องแฮงค์ ซึ่งจะต้องบูทเครื่องใหม่ มีวิธีหลักๆ ดังนี้
       - กดปุ่ม Ctrl + Alt + Delete จากคีย์บอร์ด แล้วเลือกคำสั่ง restart
       - สั่ง restart คอมพิวเตอร์จากสตาร์ทเมนูของแต่ละระบบปฏิบัติการ
       - กดปุ่ม Reset บนตัวเครื่อง
       *** สรุปง่ายๆ ก็คือ การรีสตาร์ทเครื่องจากที่เครื่องเปิดอยู่ให้บูทเครื่องใหม่


1 ความคิดเห็น:

เนื้อหาสาระดีครับ ได้ความรู้ใหม่ๆครับ ขอบคุณครับพี่ติวชิว

Reply

แสดงความคิดเห็น